วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ตอนที่ 7: การเดินทาง สถาปนิก? และ "อ้ายเชิด"

19 กันยายน 2554 เริ่มต้นจากเมืองเชียงใหม่ วันนี้ผมมีแผนที่จะเดินทางขึ้นดอยแม่กำปอง กิ่งอำเภอแม่ออน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในชุมชนที่จะพานักศึกษามาเรียนรู้วิถีชุมชนในโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด Season2 โดยแผนการของผมในวันนี้คือไปสำรวจและติดต่อที่พักให้กับเหล่านนักศึกษากว่ายี่สิบชีวิตที่จะมาทำกิจกรรมร่วมกันในเดือนถัดไป


แม่กำปอง หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนที่เรียนจบมาเป็นสถาปนิกมือใหม่ แถมยังสอบใบประกอบวิชาชีพได้ในทันที จำได้ว่าเป็นคนที่มีอัตตา มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง เวลาเจอเจ้าของงาน เจอลูกค้าก็มักจะนำความคิดที่เราเรียนมาไปครอบเขาทั้งหมด เวลาโดนโต้แย้งลึกๆในใจก็มักจะคิดว่า เห้ยนี่เราเรียนมาทางด้านนี้นะ เราเป็น"สถาปนิก"จะมารู้ดีกว่าเราได้ยังไง แต่เชื่อไหมครับว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักสถาปนิก สถาปนิกคืออะไร? ทำอะไร? อ้าวคนที่สร้างบ้านไม่ใช่วิศวกรเหรอ? (จนสมาคมสถาปนิก ยังต้องพิมพ์หนังสือมาแจกให้รู้ว่าสถาปนิกคือใคร) แต่เชื่อไหมครับว่าสิ่งที่ทำให้อัตตา และเปลี่ยนความรู้ที่เราเคยมี ความเชื่อที่เราเคยเชื่อ ก็คือการเดินทาง การเดินทางที่ไปพบผู้คนมากขึ้น พบสถานที่ต่างๆมากขึ้น พบวิถีชีวิต วัฒนธรรม และ ภูมิประเทศที่แตกต่าง และการเดินทางขึ้นดอยแม่กำปองของผมในวันนี้นอกจากทำให้ผมพบหมู่บ้านเล็กๆ ที่สวยงามท่ามกลางหุบเขา ผมยังได้พบกับนายช่างใหญ่ของหมู่บ้านที่ชื่อว่า "อ้ายเชิด"

เดินทางมาสำรวจที่ทาง

น้ำตกแม่กำปอง น้ำตกในหมู่บ้าน

"อ้ายเชิด" เป็นนายช่างใหญ่ประจำหมู่บ้าน "อ้ายเชิด" ไม่ได้จบปริญญาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่เรียนรู้จากประสบการณ์และสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่มาตั้งแต่เกิด

"อ้ายเชิด" สามารถออกแบบและสร้างบ้านได้อย่างสวยงาม ประโยชน์ใช้สอยก็ดีเยี่ยม

ในขณะที่เหล่าสถาปนิกจบใหม่ยังไม่เคยได้ทำได้สร้างจริงจังสักหลัง

"อ้ายเชิด" มีลูกค้า มีผู้ว่าจ้าง เป็นคนในหมู่บ้านที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม จนถึงเศรษฐีระดับร้อยล้าน พันล้าน จากในเมืองหลายคนที่ประทับใจและต้องการปลูกบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ ทุกคนล้วนไว้วางใจให้ "อ้ายเชิด" ก่อร่างสร้างบ้านให้กับเขา จนไปถึงการดูแลและช่วยซ่อมแซมบ้านไปตลอดอายุการใช้งาน

ในขณะที่เหล่าสถาปนิกจบใหม่จากในเมืองจะหางานและสร้างความไว้วางใจให้ลูกค้าได้อย่างไร

"อ้ายเชิด" สร้างบ้านได้ตรงตามใจเจ้าของบ้านแม้จะไม่มีแบบ ทุกอย่างอาศัยการพูดคุยกับเจ้าของบ้าน พูดคุยอย่างนอบน้อมและรับฟังเจ้าของบ้าน ถ้าเจ้าของบ้านหาวัสดุต่างๆมาให้ "อ้ายเชิด" ก็สามารถเอามาดัดแปลงเป็นบ้านตรงความต้องการของลูกค้าได้หมด

ในขณะที่สถาปนิกจบใหม่อาจยังคุยกับลูกค้าไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจเรื่องงบประมาณ บางคนอาจร้อนวิชาเอาความคิดตนเข้าครอบ

"อ้ายเชิด" ก่อสร้างบ้านได้โดยกลมกลืนกับธรรมชาติ ทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด ไม่มีการตัดภูเขาระเบิดหินขุดดินทิ้งเหมือนที่สถาปนิกจากในเมืองชอบทำกัน

"อ้ายเชิด" ไม่เคยลืมในเรื่องทางน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา น้ำที่สามารถพุดออกมาได้จากในดินหรือน้ำที่ซึมผ่านร่องหิน ในขณะที่สถาปนิกหลายคนอาจไม่รู้ หลงลืม หรือละเลยเรื่องพวกนี้

"อ้ายเชิด" เข้าใจ รู้เรื่อง วัสดุและโครงร้างเป็นอย่างดี จากเดิมที่บ้านในบริเวณหมู่บ้านเป็นโครงสร้างไม้ พอวันนึงต้องมาทำโครงสร้างคอนกรีตเขาก็ทำได้ มีเจ้าของบ้านหลังนึงไม่อยากได้โครงหลังคาไม้ อยากได้เป็นโครงเหล็กเขาและทีมงานก็ทำออกมาได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งเจ้าของบ้านอีกหลังอยากได้ก้อนอิฐที่ทำจากดินในท้องถิ่น "อ้ายเชิด" ก็ทำออกมาได้ ในขณะที่เหล่านักเรียนสถาปัตย์หลายคน ออกแบบรูปทรงแปลกๆ ต้องการจะแหวกแนว แต่ไม่เข้าใจเรื่องโครงสร้างและวัสดุ ว่าจะสร้างสิ่งที่เขาออกแบบขึ้นมาได้อย่างไร

"อ้ายเชิด" มีลูกน้องอยู่ 7 คน แต่สามารถบริหารจัดการ สร้างบ้านไปสองสามหลังพร้อมกันได้

ในระหว่างที่สถาปนิกจบใหม่ไม่ได้ถูกปลูกฝังให้ทำงานเป็นทีมหรือรู้จักบริหารงานเองได้

"อ้ายเชิด" ไม่รับงานเดินระบบไฟฟ้า เพราะรู้ว่าเป็นงานที่ตนเองไม่ถนัด แต่อ้ายเชิดประสานงานกับช่างไฟฟ้าได้ ว่าควรจะเข้ามาทำงานตอนไหน รู้จักเตรียมจุด เตรียมตำแหน่ง สำหรับติดตั้งระบบไฟ

ในขณะที่เหล่านักเรียนสถาปัตย์แค่ให้เขียนกราฟฟิก ยังไม่รู้อะไรต้องมีบ้างเกี่ยวกับงานไฟสำหรับบ้านหนึ่งหลัง

"อ้ายเชิด" ใช้โทรศัพท์โนเกียเครื่องละพันกว่าบาท ไม่ต้องการเครื่องมือสื่อสารโก้หรูต่อระบบ 3G เหมือนสถาปนิกในเมือง แต่ก็มีชีวิตที่มีความสุขกับครอบครัวและมีความรักในงานของตนเอง

"อ้ายเชิด" มีร้านกาแฟและโฮมสเตย์ที่อยู่บนดอยและมีวิวสวยที่สุดในหมู่บ้าน แต่สถาปนิกจบใหม่......มีอะไรบ้างหรือยัง



"อ้ายเชิด" นายช่างประจำหมู่บ้าน
พูดคุยจะขอพานักเรียนมาเดินตาม
ผลงานของอ้ายเชิด


บ้านแบบที่ประยุกต์ใช้คอนกรีตและโครงหลังคาเหล็ก
อิฐแต่ละก้อนหล่อขึ้นมาโดยใช้ดินในหมู่บ้าน


วิวจากร้านกาแฟ มองเห็นหมู่บ้าน มองทะลุภูเขาไปคือเชียงใหม่

ห้องพักในโฮมสเตย์
บ้านข้องอ้ายเขาละครับ

ที่เขียนถึง"อ้ายเชิด" มาทั้งหมด ไม่ได้บอกให้เหล่านักเรียนหรือว่าที่สถาปนิกทั้งหลายต้องไปอยู่บนดอยหรือผันตัวไปทำงานก่อสร้าง หรือไม่ให้สร้างสรรค์งานที่แหวกแนว เพียงแต่อยากจะสื่อให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่พวกเราและระบบการศึกษาละเลย หลายครั้งเรียนแต่จากตำราที่มาจากเมืองนอก หรือ เอาแต่สร้างรูปทรงมันส์ๆ ตามที่เห็นในแมกกาซีน ไม่รู้ว่าชีวิตจริงเป็นอย่างไร หรือเมื่อออกไปทำวิชาชีพก็ละเลยเรื่องวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และบริบท ที่ควรจะเป็น

นี่ละครับคือหัวใจของโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด ที่ต้องการให้นักศึกษาได้เดินทาง เดินทางไปพบวิถีของชุมชนตั้งแต่ระดับรากหญ้า เดินทางไปสัมผัสธรรมชาติ วัฒนธรรม เดินทางไปพบเจอผู้คน คนที่ไม่ต้องเป็นนายช่างเหมือน"อ้ายเชิด" ก็ได้ครับ แค่ไปรับฟังความคิดเห็นจากเขาก็เป็นพอ สิ่งพวกนี้ละครับจะเป็นฐานที่ดีให้กับทัศนคติในการทำงานวิชาชีพสถาปัตย์ต่อไปในอนาคต ตั้งแต่บ้านหลังเล็กๆ ไปจนถึงตึกสูงเสียดฟ้า

พร้อมกันหรือยังครับสำหรับสำหรับการเดินทาง ^_^

บันทึกเรื่องราวโดย มนต์ชัย บุญยะวิภากุล




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น