วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ตอนที่ 8 คำนิยมจาก "พ่อบ้านและแม่บ้าน"

โครงการ 4+1 Season 2 ปีนี้มีพ่อบ้านแม่บ้านอยู่ 12 คน พ่อบ้านและแม่บ้านของเราจะไม่ใช่ Master ที่ให้เด็กทำตามหรือคอยชี้นิ้วสั่งครับ แต่ที่จะเป็นผู้คอยแนะแนว ผู้คอยดูแล ไถ่ถามทุกข์สุข คอยให้กำลังใจอยู่เบื้องหลัง ส่วนเรื่องความรู้เหล่านักศึกษาต้องลงไปซึมซับจากชุมชนครับ
นี่คือความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด Season 2 ของเหล่าพ่อบ้านและแม่บ้านของพวกเราครับ
ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ
ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ : พี่น้อง4+1ถาปัดรังสิตจะเป็นเมล็ดสถาปนิกพันธุ์ใหม่ ไม่ว่าจะปลูกอยู่ที่ไหน ก็จะงอกงามสืบสานสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะถ้าได้เติบโตในแผ่นดินบ้านเกิดก็เหมือนได้เพิ่มแรงบันดาลใจที่ช่วย ให้สถาปัตยกรรมทื่คุ้นเคยในวัยเด็กเจริญเติบโต
ปีการศึกษา 2553 โครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิดได้เริ่มต้นที่ 426 คน แต่ปีต่อๆ ไป พี่น้องถาปัดรังสิตจะค่อยๆ ขยาย เป็นพัน เป็นหมื่น เพื่อร่วมรับผิดชอบต่อสถาปัตยกรรมแผ่นดินเกิดของเรา

ผศ.สุวิชา เบญจพร
ผศ.สุวิชา เบญจพร : โครงการ 4+1สำนึกรักบ้านเกิดเป็นกลไกการจัดการเรียนการสอนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตที่มุ่งเน้นปลูกฝังกระบวนการเรียนรู้ และสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่นำบริบทพื้นฐานแห่งวิถีชุมชน สังคม และวัฒนธรรมในท้องถิ่นไทย มาบูรณาการกับกลไกการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาชั้นปีที่1และ4ให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ นำมาซึ่งความเข้าใจคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ถือเป็นการสร้างฐานการพัฒนาอนาคตของชาติที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นไทยผสมผสานวิธีการแบบสากล

อาจารย์มนต์ชัย บุญยะวิภากุล
อ.มนต์ชัย บุญยะวิภากุล : การบูรณาการ เรียนการสอนข้ามชั้นปี ระหว่างพี่ปี 4 และ น้องปี 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากบูรณาการการเรียนการสอนแล้ว โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่บูรณาการในเรื่อง วิชาการ กิจกรรมของนักศึกษา และงานวิจัย เข้าร่วมกัน ตอบสนองแนวทางของการศึกษาไทย และอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ที่ให้ความสำคัญกับชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น หลังจากที่การศึกษาไทยมุ่งเน้นไปนิยมวิธีเรียนแบบตะวันตกจนหลงลืมภูมิปัญญา วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่


ผศ.ดร.อวิรุทธิ์ เจริญทรัพย์
ผศ.ดร.อวิรุทธิ์ เจริญทรัพย์ 4 ความคิด 4 ความร่วมมือ 4 ความสนุก 4 ความลำบาก + 1 การทำความดีให้กับสังคม = ได้....หนึ่งเกรด ???? ผ่านแย้ววิชานี้ อ่ะ อ่ะ ในที่สุด

อ.วิทูล ทิพยเนตร
อ.วิทูล ทิพยเนตร: ปีนี้เป็นประธานโครงการครับ สู้ๆ

อ.ณัฐกานต์ ร่วมยอด
อ.ณัฐกานต์ ร่วมยอด: สถาปนิกคนไทย ควรรู้รากเง้า วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และวัฒธรรมแบบไทย เพื่อสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อคนไทย
เมื่อเรารู้และเข้าใจตรรกะของไทยนี้ เราสามารถนำตรรกะนั้นไปประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์กับทุกสถานที่ในอนาคตข้างหน้า โดยโครงการ4+1 นี้เป็นโครงการนำร่องที่เปิดโอกาสให้เราได้เริ่มศึกษาตรรกะของความเป็นไทยของเรา

อ.สุพัตรา ราษฎร์ศิริ
อ.สุพัตรา ราษฎร์ศิริ: โครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด นอกจากจะเป็นโครงการที่สร้างโอกาสให้นักศึกษาได้นำความรู้ทางทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง ในรูปแบบสำนักงานสถาปนิกจำลองของรุ่นพี่ปี 4 และน้องปี 1 แล้ว สิ่งสำคัญคือ การได้หล่อหลอมให้ว่าที่สถาปนิกทั้งหลาย สร้างสรรค์ผลงานโดยคำนึงถึงบริบท วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ที่ควรค่าแก่การดำรงอยู่ของชุมชน นำไปสู่การเพิ่มคุณค่าให้แก่ชุมชนและสังคมชนบทไทยให้ดำรงอยู่สืบไปอย่างยั่งยืน


อ.ศิรดล ชํานาญคดี
อ.ศิรดล ชํานาญคดี : เมื่อเร็วๆนี้ผมมีโอกาสไปดู Site งานที่จังหวัดลำปาง ระหว่างทางผมสะดุดุตากับบ้านไม้ไม่มีหน้าต่าง และปราศจากร่องรอยของการอยู่อาศัย จุดเด่นอีกอย่างของบ้านคือผนังไม้หนานิ้วครึ่งที่ซ้อนกันสองชั้น
อาจเพราะอากาศที่หนาว อาจเพราะลมพัดแรงสมองเริ่มทำงานเชื่อมโยงเหตุปัจจัยว่าสิ่งที่เห็น ยังไม่ทันได้ข้อสรุป เสียงเจ้าของพื้นที่พูดตัดความ ได้ใจความว่า บ้านที่เห้นนั้นไม่มีคนอยู่แต่สร้างขึ้นเพื่อตากไม้ให้แห้งเพราะป่าไม้ไม่อนุญาตให้เอาไม้จากป่ามาวางขาย
ผมเห็นช่องว่างระหว่างการศึกษา (Academic) กับโลกภายนอกซึ่งจะมีจุดสมดุลในแต่ละเวลาและสถานที่ ชาวบ้าน ป่าไม้ ธรรมชาติ ล้วนพึ่งพาอาศัยกัน
อ.คมสัน สกุลอํานวยพงศา
อ.คมสัน สกุลอํานวยพงศา : ภาระกิจ4+1 นี้ทั้งพี่ทั้งน้องคงนับถอยหลังเพื่อที่จะก้าวผ่านประสบการณ์ใหม่ๆที่กำลังรออยู่ข้างหน้า และมันจะไม่มีทางผ่านไปได้อย่างน่าประทับใจหากภาระกิจนี้ไม่ได้เริ่มและจบลงด้วยคำว่า" ทีม"

อ.สมสมร มงคละสิริ

อ.วิสันต์ ศรีวิวิธกุล
อ.วิสันต์ ศรีวิวิธกุล : การได้ศึกษาบริบทของชุมชน รู้ถึงลักษณะพฤติกรรมการอยู่อาศัย วัฒนธรรม ประเพณี หรือความเชื่อ ย่อมทำให้เข้าใจในวิถีของชุมชน หากต้องเข้าไปออกแบบสถาปัตยกรรมในชุมชนนั้น ก็จะไม่สร้างความขัดแย้ง หรือเรียกว่าสร้างความกลมกลืน เหมาะสมกับชุมชนนั้น ๆ ได้อย่างแท้จริง

2 ความคิดเห็น:

  1. ความสำเร็จคือ 4+1 = 5 ไม่ใช่ = 4 หรือ = 1
    จะสำเร็จที่สุด เมื่อเป็นมากกว่า 5 คือ 555
    555 คือความสุข ในการทำงาน ของนักศึกษาปี4ปี1
    555 คือความสุข ในการอยู่อาศัย ของชาวบ้านชุมชน
    คุณสร้างมันได้ด้วย " Unity " ในทีมงาน งาน และชุมชน

    ตอบลบ
  2. คำคมข้างบนมาจาก พ่อบ้านอีกคนที่หลบมุมอยู่ อาจารย์นัทแห่งวิชาไฮเปอร์มิเดีย

    ตอบลบ