วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ตอนที่ 2: ปรับเข็มนาฬิกา


2 กันยายน 2554 วันแรกของการเริ่มต้นโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด Season 2 เป็นวันที่ชี้แจงเกี่ยวกับโครงการ ทั้งทางด้านวัตถุประสงค์ เป้าหมาย กิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้น ให้กับนักศึกาษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะตั้ง Office สำหรับให้น้องๆ ปี 1 ได้เข้ามาร่วมโครงการ นอกจากนั้นยังได้แสดงปฏิทินแผนการเรียนของนักศึกษาไปล่วงหน้าจนถึงปีข้างหน้าว่าจะเจออะไรกันบ้าง หลังจากนั้นได้นำหัวข้อหนึ่งมาเป็นประเด็นเล่าเรื่องให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ฟัง คือเรื่อง "เข็มนาฬิกา"


เรื่อง"เข็มนาฬิกา" เป็นเรื่องที่ได้ฟังมาจาก "คุณตัน ภาสกรนที" ในเดี่ยวโชว์ของคุณตัน (ไม่ได้ไปดูที่จริงครับ แต่ซื้อ DVD แผ่นแท้มาดู) คุณตันได้พูดถึงการทำงานของเข็มนาฬิกาแต่ละเข็มเปรียบเทียบกับการทำงานไว้ได้น่าฟังและเป็นที่น่าประทับใจจนผมต้องนำมาเล่า
ต่อให้นักศึกษาฟัง คุณตันได้บอกว่าเข็มทุกเข็มนั้นสำคัญแต่ต้องแยกบทบาทให้ชัดเจน
  • เข็มวินาที เป็นเข็มที่เล็กสุดและเดินเร็วสุดเปรียบเหมือนกับพวกเริ่มต้นทำงาน ยังเป็นลูกน้องเขาอยู่ต้องรู้หน้าที่ตัวเองจัดการตัวเองได้
  • เข็มนาที เป็นเข็มที่ใหญ่ขึ้นมา ไม่ได้เดินเร็วเหมือนเข็มวินาที เป็นเหมือนหัวหน้างาน หัวหน้าแผนก ต้องรู้จักบริหารงาน มีงานแล้วต้องรู้ว่าจะแจกจ่ายไปที่ลูกน้องคนไหน ถ้าต้องลงไปเดินเร็วแบบเข็มวินาทีก็ผิดละ
  • เข็มชัวโมง เป็นเข็มที่ใหญ่สุด ทรงพลังที่สุด เราจะไม่ทันสังเกตุเห็นว่าเข็มนี้เดิน เปรียบเหมือน CEO ขององค์กร สิ่งสำคัญสุดของเข็มนี้คือการตัดสินใจ องค์กรจะกำไร ขาดทุน ประสพความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวขึ้นกับการตัดสินใจของเข็มนี้ ถ้าเอาเข็มนี้ไปใช้ผิดประเภท ให้เดินแบบเข็มวินาทีไม่นานถ่านก็จะหมด
แต่ไม่ว่าเข็มไหนจะมีบทบาทยังไง แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกันคือรูตรงกลางนาฬิกา เปรียบเหมือนองค์กรเรา บริษัทเรา ถ้าเข้าใจเป้าหมาย เข้าใจบทบาท การทำงานก้จะประสบความสำเร็จไปด้วยดี

สาเหตุที่นำประเด็นเรื่อง"เข็มนาฬิกา" มาพูดให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ฟังก็คือ อยากให้นักศึกษาเข้าใจว่าสำหรับในโครงการที่บูรณาการเรียนการสอนในวิชาที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์ การบริหารจัดการ นักศึกษาจะต้องปรับตัวเอง จากเข็มวินาที จากที่ตลอดสามปีที่ผ่านมานักศึกษาดูแลแค่งานโปรเจคหรืองานออกแบบของตัวเอง ปรับตัวเองสู่เข็มนาที เปลี่ยนตัวเองสู่นักวางแผน นักจัดการ วางกลยุทธ์ต่าง ฝึกการดูแลน้องๆปี 1 ที่เลือกมาทำงานโครงการร่วมกับบริษัทของพี่ๆ


ภาพ กลุ่มสำนักงานออกแบบของนักศึกษาปี 4


ทักษะเหล่านี้ เป็นการเตรียมตัวสำหรับนักศึกษาปี 4 ที่ต้องไปสหกิจ (ฝึกงาน 4 เดือน) ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงปีนับจากนี้ เมื่อเข้าไปทำงานจริงๆ เริ่มต้นเป้นเข็มวินาที่ในสถานที่เริ่มต้นทำงาน นักศึกษาจะได้เข้าใจว่าพี่ๆในองค์กรที่เป็นเข็มนาที เข็มชั่วโมง เขามีวิธีคิดแบบไหนกันอยู่ เข็มวินาทีน้อยๆ อย่างเราจะได้ไม่เดินหมุนหลุดออกจากศูนย์กลาง

แค่วันชี้แจงให้พี่ปี4 ฟังก็เป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ Season 2 นี้ รับรองสนุกแน่ครับ

บันทึกเรื่องราวโดย มนต์ชัย บุญยะวิภากุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น