วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 9 : เลข 23 และ เป้าหมาย "เพิ่มมูลค่าสู่บ้านเกิด"

23 กันยายน 2554 เป็นวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด season 2 เป็นวันที่พี่และน้องทั้ง 23 กลุ่ม ที่กำลังจะไปทำภารกิจรักบ้านเกิด แก่ชุมชน ทั้ง 23 ชุมชน มากันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อรับฟังและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการและสิ่งที่พวกเขาต้องเจอในช่วงตลอดภาคการศึกษาถัดไป พอมานึกดู อ้าว อะไรๆก็เลข 23 ได้แต่แอบคิดในใจว่าเลข 23 คงเป็นเลขมงคลของโครงการในปีนี้เป็นแน่แท้ แต่มานึกอีกที 4+1 ก็คือ 5 (จำนวนปีการเรียนในคณะสถาปัตย์) 2+3 ก็ 5 เหมือนกัน เห็นไหมครับว่าอะไรจะสอดคล้องกันขนาดนี้ 5 ปีของนักศึกษาคณะสถาปัตย์

บรรยายเรื่อง Ad value เพิ่มมูลค่าและวิธีการลงพื้นที่ โดย อ.ปุณณรัตน์ จรุงคนธ์

ตามปรัชญา IRSPCA (Identify, Research, Skill, Presentation, Assessement) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมศาสร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วันนี้เป็นวันที่เราจะมา Identify ชี้แจงให้นักศึกษาทั้งสองชั้นปีเข้าใจเป้าหมายของโครงการเพื่อที่จะได้เห็นภาพสุดท้ายของโครงการไปในทิศทางเดียวกันครับ เพราะทางคณะฯ เราเชื่อว่าการจะให้เยาวชนในยุคปัจจุบันทำอะไรหรือเรียนอะไรควรมีการชี้แจงให้พวกเขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อทุกคนเข้าใจในเป้าหมายเดียวกันเห็นประโยชน์ในการทำสิ่งนั้นร่วมกัน ถึงแม้จะเหน็ดจะเหนื่อยก็สามารขับเคลื่อนหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมาย ดีกว่าทำไปโดยไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร



“Advalue” เพิ่มมูลค่า ให้บ้านเกิด คือเป้าหมาย ของการทำงาน 4+1 สำนึกรักบ้านเกิดครับ ในการลงพื้นที่นักศึกษาปี4 และ ปี 1 จะต้องหาทางเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน ปี 4 ซึ่งเรียนวิชาออกแบบผัง จะต้องวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ไปเก็บมาเพื่อวางแผนกลยุทธเพิ่มมูลค่าให้ชุมชน เปลี่ยนจากกลยุทธ์สู่กายภาพของชุมชน แต่สิ่งที่เราพยายามเน้นกับเหล่านักศึกษาปี 4 คืออย่าบอกว่า “ผมต้องการทำอย่างนี้ หนูต้องการทำอย่างนี้คะ แต่ควรจะเปลี่ยนเป็น “ชาวบ้านต้องการ” เพราะนี่คือการปลูกฝังให้คิดแบบ Bottom up กระบวนการนี้จะเป็นการฝึกให้มี วิสัยทัศน์(vision) กว้างไกลและมองรอบด้านมากขึ้น

นักศึกษาปี 1 จะถูกฝึกวิเคราะและสังเคราะเช่นกัน แต่จะเน้นในส่วนของสถาปัตยกรรมภายในชุมชน รูปทรง พื้นที่ใช้สอย วัสดุ พฤติกรรมผู้อยู่อาศัย สุด ท้ายน้องปี 1 จะนำเอาสถาปัตยกรรมที่เขาพบเจอ ผนวกกับแผนกลยุทธของพี่ปี 4 และทักษะทางการออกแบบที่ได้เริ่มสั่งสมมา จากการเริียนในเทอม 1 มาพัฒนา สร้างเป็นอาคาร บ้านเรือน เป็นสถาปัตยกรรมที่เพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนซึ่งเนื้อหาเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของนักคิดนักออกแบบที่ดีติดตัวไปจนก้าวสู่วิชาชีพสถาปนิกในวันข้างหน้า

นี่ละครับการเรียนทางสถาปัตยกรรมที่หลีกหนีตำราแบบเดิมๆทั้งหมด ไม่ใช่การเรียนแบบเดิมอีกต่อไป เราเชื่อและยอมรับว่าในตำราเป็นข้อมูลที่ดีเป็นพื้นฐานที่ควรรู้ แต่ประสบการณ์จริงนั้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุดและหาซื้อไม่ได้ครับ

บันทึกเรื่องราวโดย มนต์ชัย บุญยะวิภากุล