วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 9 : เลข 23 และ เป้าหมาย "เพิ่มมูลค่าสู่บ้านเกิด"

23 กันยายน 2554 เป็นวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด season 2 เป็นวันที่พี่และน้องทั้ง 23 กลุ่ม ที่กำลังจะไปทำภารกิจรักบ้านเกิด แก่ชุมชน ทั้ง 23 ชุมชน มากันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อรับฟังและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการและสิ่งที่พวกเขาต้องเจอในช่วงตลอดภาคการศึกษาถัดไป พอมานึกดู อ้าว อะไรๆก็เลข 23 ได้แต่แอบคิดในใจว่าเลข 23 คงเป็นเลขมงคลของโครงการในปีนี้เป็นแน่แท้ แต่มานึกอีกที 4+1 ก็คือ 5 (จำนวนปีการเรียนในคณะสถาปัตย์) 2+3 ก็ 5 เหมือนกัน เห็นไหมครับว่าอะไรจะสอดคล้องกันขนาดนี้ 5 ปีของนักศึกษาคณะสถาปัตย์

บรรยายเรื่อง Ad value เพิ่มมูลค่าและวิธีการลงพื้นที่ โดย อ.ปุณณรัตน์ จรุงคนธ์

ตามปรัชญา IRSPCA (Identify, Research, Skill, Presentation, Assessement) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมศาสร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วันนี้เป็นวันที่เราจะมา Identify ชี้แจงให้นักศึกษาทั้งสองชั้นปีเข้าใจเป้าหมายของโครงการเพื่อที่จะได้เห็นภาพสุดท้ายของโครงการไปในทิศทางเดียวกันครับ เพราะทางคณะฯ เราเชื่อว่าการจะให้เยาวชนในยุคปัจจุบันทำอะไรหรือเรียนอะไรควรมีการชี้แจงให้พวกเขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อทุกคนเข้าใจในเป้าหมายเดียวกันเห็นประโยชน์ในการทำสิ่งนั้นร่วมกัน ถึงแม้จะเหน็ดจะเหนื่อยก็สามารขับเคลื่อนหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมาย ดีกว่าทำไปโดยไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร



“Advalue” เพิ่มมูลค่า ให้บ้านเกิด คือเป้าหมาย ของการทำงาน 4+1 สำนึกรักบ้านเกิดครับ ในการลงพื้นที่นักศึกษาปี4 และ ปี 1 จะต้องหาทางเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน ปี 4 ซึ่งเรียนวิชาออกแบบผัง จะต้องวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ไปเก็บมาเพื่อวางแผนกลยุทธเพิ่มมูลค่าให้ชุมชน เปลี่ยนจากกลยุทธ์สู่กายภาพของชุมชน แต่สิ่งที่เราพยายามเน้นกับเหล่านักศึกษาปี 4 คืออย่าบอกว่า “ผมต้องการทำอย่างนี้ หนูต้องการทำอย่างนี้คะ แต่ควรจะเปลี่ยนเป็น “ชาวบ้านต้องการ” เพราะนี่คือการปลูกฝังให้คิดแบบ Bottom up กระบวนการนี้จะเป็นการฝึกให้มี วิสัยทัศน์(vision) กว้างไกลและมองรอบด้านมากขึ้น

นักศึกษาปี 1 จะถูกฝึกวิเคราะและสังเคราะเช่นกัน แต่จะเน้นในส่วนของสถาปัตยกรรมภายในชุมชน รูปทรง พื้นที่ใช้สอย วัสดุ พฤติกรรมผู้อยู่อาศัย สุด ท้ายน้องปี 1 จะนำเอาสถาปัตยกรรมที่เขาพบเจอ ผนวกกับแผนกลยุทธของพี่ปี 4 และทักษะทางการออกแบบที่ได้เริ่มสั่งสมมา จากการเริียนในเทอม 1 มาพัฒนา สร้างเป็นอาคาร บ้านเรือน เป็นสถาปัตยกรรมที่เพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนซึ่งเนื้อหาเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของนักคิดนักออกแบบที่ดีติดตัวไปจนก้าวสู่วิชาชีพสถาปนิกในวันข้างหน้า

นี่ละครับการเรียนทางสถาปัตยกรรมที่หลีกหนีตำราแบบเดิมๆทั้งหมด ไม่ใช่การเรียนแบบเดิมอีกต่อไป เราเชื่อและยอมรับว่าในตำราเป็นข้อมูลที่ดีเป็นพื้นฐานที่ควรรู้ แต่ประสบการณ์จริงนั้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุดและหาซื้อไม่ได้ครับ

บันทึกเรื่องราวโดย มนต์ชัย บุญยะวิภากุล


วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ตอนที่ 8 คำนิยมจาก "พ่อบ้านและแม่บ้าน"

โครงการ 4+1 Season 2 ปีนี้มีพ่อบ้านแม่บ้านอยู่ 12 คน พ่อบ้านและแม่บ้านของเราจะไม่ใช่ Master ที่ให้เด็กทำตามหรือคอยชี้นิ้วสั่งครับ แต่ที่จะเป็นผู้คอยแนะแนว ผู้คอยดูแล ไถ่ถามทุกข์สุข คอยให้กำลังใจอยู่เบื้องหลัง ส่วนเรื่องความรู้เหล่านักศึกษาต้องลงไปซึมซับจากชุมชนครับ
นี่คือความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด Season 2 ของเหล่าพ่อบ้านและแม่บ้านของพวกเราครับ
ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ
ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ : พี่น้อง4+1ถาปัดรังสิตจะเป็นเมล็ดสถาปนิกพันธุ์ใหม่ ไม่ว่าจะปลูกอยู่ที่ไหน ก็จะงอกงามสืบสานสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะถ้าได้เติบโตในแผ่นดินบ้านเกิดก็เหมือนได้เพิ่มแรงบันดาลใจที่ช่วย ให้สถาปัตยกรรมทื่คุ้นเคยในวัยเด็กเจริญเติบโต
ปีการศึกษา 2553 โครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิดได้เริ่มต้นที่ 426 คน แต่ปีต่อๆ ไป พี่น้องถาปัดรังสิตจะค่อยๆ ขยาย เป็นพัน เป็นหมื่น เพื่อร่วมรับผิดชอบต่อสถาปัตยกรรมแผ่นดินเกิดของเรา

ผศ.สุวิชา เบญจพร
ผศ.สุวิชา เบญจพร : โครงการ 4+1สำนึกรักบ้านเกิดเป็นกลไกการจัดการเรียนการสอนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตที่มุ่งเน้นปลูกฝังกระบวนการเรียนรู้ และสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่นำบริบทพื้นฐานแห่งวิถีชุมชน สังคม และวัฒนธรรมในท้องถิ่นไทย มาบูรณาการกับกลไกการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาชั้นปีที่1และ4ให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ นำมาซึ่งความเข้าใจคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ถือเป็นการสร้างฐานการพัฒนาอนาคตของชาติที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นไทยผสมผสานวิธีการแบบสากล

อาจารย์มนต์ชัย บุญยะวิภากุล
อ.มนต์ชัย บุญยะวิภากุล : การบูรณาการ เรียนการสอนข้ามชั้นปี ระหว่างพี่ปี 4 และ น้องปี 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากบูรณาการการเรียนการสอนแล้ว โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่บูรณาการในเรื่อง วิชาการ กิจกรรมของนักศึกษา และงานวิจัย เข้าร่วมกัน ตอบสนองแนวทางของการศึกษาไทย และอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ที่ให้ความสำคัญกับชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น หลังจากที่การศึกษาไทยมุ่งเน้นไปนิยมวิธีเรียนแบบตะวันตกจนหลงลืมภูมิปัญญา วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่


ผศ.ดร.อวิรุทธิ์ เจริญทรัพย์
ผศ.ดร.อวิรุทธิ์ เจริญทรัพย์ 4 ความคิด 4 ความร่วมมือ 4 ความสนุก 4 ความลำบาก + 1 การทำความดีให้กับสังคม = ได้....หนึ่งเกรด ???? ผ่านแย้ววิชานี้ อ่ะ อ่ะ ในที่สุด

อ.วิทูล ทิพยเนตร
อ.วิทูล ทิพยเนตร: ปีนี้เป็นประธานโครงการครับ สู้ๆ

อ.ณัฐกานต์ ร่วมยอด
อ.ณัฐกานต์ ร่วมยอด: สถาปนิกคนไทย ควรรู้รากเง้า วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และวัฒธรรมแบบไทย เพื่อสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อคนไทย
เมื่อเรารู้และเข้าใจตรรกะของไทยนี้ เราสามารถนำตรรกะนั้นไปประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์กับทุกสถานที่ในอนาคตข้างหน้า โดยโครงการ4+1 นี้เป็นโครงการนำร่องที่เปิดโอกาสให้เราได้เริ่มศึกษาตรรกะของความเป็นไทยของเรา

อ.สุพัตรา ราษฎร์ศิริ
อ.สุพัตรา ราษฎร์ศิริ: โครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด นอกจากจะเป็นโครงการที่สร้างโอกาสให้นักศึกษาได้นำความรู้ทางทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง ในรูปแบบสำนักงานสถาปนิกจำลองของรุ่นพี่ปี 4 และน้องปี 1 แล้ว สิ่งสำคัญคือ การได้หล่อหลอมให้ว่าที่สถาปนิกทั้งหลาย สร้างสรรค์ผลงานโดยคำนึงถึงบริบท วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ที่ควรค่าแก่การดำรงอยู่ของชุมชน นำไปสู่การเพิ่มคุณค่าให้แก่ชุมชนและสังคมชนบทไทยให้ดำรงอยู่สืบไปอย่างยั่งยืน


อ.ศิรดล ชํานาญคดี
อ.ศิรดล ชํานาญคดี : เมื่อเร็วๆนี้ผมมีโอกาสไปดู Site งานที่จังหวัดลำปาง ระหว่างทางผมสะดุดุตากับบ้านไม้ไม่มีหน้าต่าง และปราศจากร่องรอยของการอยู่อาศัย จุดเด่นอีกอย่างของบ้านคือผนังไม้หนานิ้วครึ่งที่ซ้อนกันสองชั้น
อาจเพราะอากาศที่หนาว อาจเพราะลมพัดแรงสมองเริ่มทำงานเชื่อมโยงเหตุปัจจัยว่าสิ่งที่เห็น ยังไม่ทันได้ข้อสรุป เสียงเจ้าของพื้นที่พูดตัดความ ได้ใจความว่า บ้านที่เห้นนั้นไม่มีคนอยู่แต่สร้างขึ้นเพื่อตากไม้ให้แห้งเพราะป่าไม้ไม่อนุญาตให้เอาไม้จากป่ามาวางขาย
ผมเห็นช่องว่างระหว่างการศึกษา (Academic) กับโลกภายนอกซึ่งจะมีจุดสมดุลในแต่ละเวลาและสถานที่ ชาวบ้าน ป่าไม้ ธรรมชาติ ล้วนพึ่งพาอาศัยกัน
อ.คมสัน สกุลอํานวยพงศา
อ.คมสัน สกุลอํานวยพงศา : ภาระกิจ4+1 นี้ทั้งพี่ทั้งน้องคงนับถอยหลังเพื่อที่จะก้าวผ่านประสบการณ์ใหม่ๆที่กำลังรออยู่ข้างหน้า และมันจะไม่มีทางผ่านไปได้อย่างน่าประทับใจหากภาระกิจนี้ไม่ได้เริ่มและจบลงด้วยคำว่า" ทีม"

อ.สมสมร มงคละสิริ

อ.วิสันต์ ศรีวิวิธกุล
อ.วิสันต์ ศรีวิวิธกุล : การได้ศึกษาบริบทของชุมชน รู้ถึงลักษณะพฤติกรรมการอยู่อาศัย วัฒนธรรม ประเพณี หรือความเชื่อ ย่อมทำให้เข้าใจในวิถีของชุมชน หากต้องเข้าไปออกแบบสถาปัตยกรรมในชุมชนนั้น ก็จะไม่สร้างความขัดแย้ง หรือเรียกว่าสร้างความกลมกลืน เหมาะสมกับชุมชนนั้น ๆ ได้อย่างแท้จริง

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ตอนที่ 7: การเดินทาง สถาปนิก? และ "อ้ายเชิด"

19 กันยายน 2554 เริ่มต้นจากเมืองเชียงใหม่ วันนี้ผมมีแผนที่จะเดินทางขึ้นดอยแม่กำปอง กิ่งอำเภอแม่ออน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในชุมชนที่จะพานักศึกษามาเรียนรู้วิถีชุมชนในโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด Season2 โดยแผนการของผมในวันนี้คือไปสำรวจและติดต่อที่พักให้กับเหล่านนักศึกษากว่ายี่สิบชีวิตที่จะมาทำกิจกรรมร่วมกันในเดือนถัดไป


แม่กำปอง หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนที่เรียนจบมาเป็นสถาปนิกมือใหม่ แถมยังสอบใบประกอบวิชาชีพได้ในทันที จำได้ว่าเป็นคนที่มีอัตตา มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง เวลาเจอเจ้าของงาน เจอลูกค้าก็มักจะนำความคิดที่เราเรียนมาไปครอบเขาทั้งหมด เวลาโดนโต้แย้งลึกๆในใจก็มักจะคิดว่า เห้ยนี่เราเรียนมาทางด้านนี้นะ เราเป็น"สถาปนิก"จะมารู้ดีกว่าเราได้ยังไง แต่เชื่อไหมครับว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักสถาปนิก สถาปนิกคืออะไร? ทำอะไร? อ้าวคนที่สร้างบ้านไม่ใช่วิศวกรเหรอ? (จนสมาคมสถาปนิก ยังต้องพิมพ์หนังสือมาแจกให้รู้ว่าสถาปนิกคือใคร) แต่เชื่อไหมครับว่าสิ่งที่ทำให้อัตตา และเปลี่ยนความรู้ที่เราเคยมี ความเชื่อที่เราเคยเชื่อ ก็คือการเดินทาง การเดินทางที่ไปพบผู้คนมากขึ้น พบสถานที่ต่างๆมากขึ้น พบวิถีชีวิต วัฒนธรรม และ ภูมิประเทศที่แตกต่าง และการเดินทางขึ้นดอยแม่กำปองของผมในวันนี้นอกจากทำให้ผมพบหมู่บ้านเล็กๆ ที่สวยงามท่ามกลางหุบเขา ผมยังได้พบกับนายช่างใหญ่ของหมู่บ้านที่ชื่อว่า "อ้ายเชิด"

เดินทางมาสำรวจที่ทาง

น้ำตกแม่กำปอง น้ำตกในหมู่บ้าน

"อ้ายเชิด" เป็นนายช่างใหญ่ประจำหมู่บ้าน "อ้ายเชิด" ไม่ได้จบปริญญาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่เรียนรู้จากประสบการณ์และสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่มาตั้งแต่เกิด

"อ้ายเชิด" สามารถออกแบบและสร้างบ้านได้อย่างสวยงาม ประโยชน์ใช้สอยก็ดีเยี่ยม

ในขณะที่เหล่าสถาปนิกจบใหม่ยังไม่เคยได้ทำได้สร้างจริงจังสักหลัง

"อ้ายเชิด" มีลูกค้า มีผู้ว่าจ้าง เป็นคนในหมู่บ้านที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม จนถึงเศรษฐีระดับร้อยล้าน พันล้าน จากในเมืองหลายคนที่ประทับใจและต้องการปลูกบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ ทุกคนล้วนไว้วางใจให้ "อ้ายเชิด" ก่อร่างสร้างบ้านให้กับเขา จนไปถึงการดูแลและช่วยซ่อมแซมบ้านไปตลอดอายุการใช้งาน

ในขณะที่เหล่าสถาปนิกจบใหม่จากในเมืองจะหางานและสร้างความไว้วางใจให้ลูกค้าได้อย่างไร

"อ้ายเชิด" สร้างบ้านได้ตรงตามใจเจ้าของบ้านแม้จะไม่มีแบบ ทุกอย่างอาศัยการพูดคุยกับเจ้าของบ้าน พูดคุยอย่างนอบน้อมและรับฟังเจ้าของบ้าน ถ้าเจ้าของบ้านหาวัสดุต่างๆมาให้ "อ้ายเชิด" ก็สามารถเอามาดัดแปลงเป็นบ้านตรงความต้องการของลูกค้าได้หมด

ในขณะที่สถาปนิกจบใหม่อาจยังคุยกับลูกค้าไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจเรื่องงบประมาณ บางคนอาจร้อนวิชาเอาความคิดตนเข้าครอบ

"อ้ายเชิด" ก่อสร้างบ้านได้โดยกลมกลืนกับธรรมชาติ ทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด ไม่มีการตัดภูเขาระเบิดหินขุดดินทิ้งเหมือนที่สถาปนิกจากในเมืองชอบทำกัน

"อ้ายเชิด" ไม่เคยลืมในเรื่องทางน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา น้ำที่สามารถพุดออกมาได้จากในดินหรือน้ำที่ซึมผ่านร่องหิน ในขณะที่สถาปนิกหลายคนอาจไม่รู้ หลงลืม หรือละเลยเรื่องพวกนี้

"อ้ายเชิด" เข้าใจ รู้เรื่อง วัสดุและโครงร้างเป็นอย่างดี จากเดิมที่บ้านในบริเวณหมู่บ้านเป็นโครงสร้างไม้ พอวันนึงต้องมาทำโครงสร้างคอนกรีตเขาก็ทำได้ มีเจ้าของบ้านหลังนึงไม่อยากได้โครงหลังคาไม้ อยากได้เป็นโครงเหล็กเขาและทีมงานก็ทำออกมาได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งเจ้าของบ้านอีกหลังอยากได้ก้อนอิฐที่ทำจากดินในท้องถิ่น "อ้ายเชิด" ก็ทำออกมาได้ ในขณะที่เหล่านักเรียนสถาปัตย์หลายคน ออกแบบรูปทรงแปลกๆ ต้องการจะแหวกแนว แต่ไม่เข้าใจเรื่องโครงสร้างและวัสดุ ว่าจะสร้างสิ่งที่เขาออกแบบขึ้นมาได้อย่างไร

"อ้ายเชิด" มีลูกน้องอยู่ 7 คน แต่สามารถบริหารจัดการ สร้างบ้านไปสองสามหลังพร้อมกันได้

ในระหว่างที่สถาปนิกจบใหม่ไม่ได้ถูกปลูกฝังให้ทำงานเป็นทีมหรือรู้จักบริหารงานเองได้

"อ้ายเชิด" ไม่รับงานเดินระบบไฟฟ้า เพราะรู้ว่าเป็นงานที่ตนเองไม่ถนัด แต่อ้ายเชิดประสานงานกับช่างไฟฟ้าได้ ว่าควรจะเข้ามาทำงานตอนไหน รู้จักเตรียมจุด เตรียมตำแหน่ง สำหรับติดตั้งระบบไฟ

ในขณะที่เหล่านักเรียนสถาปัตย์แค่ให้เขียนกราฟฟิก ยังไม่รู้อะไรต้องมีบ้างเกี่ยวกับงานไฟสำหรับบ้านหนึ่งหลัง

"อ้ายเชิด" ใช้โทรศัพท์โนเกียเครื่องละพันกว่าบาท ไม่ต้องการเครื่องมือสื่อสารโก้หรูต่อระบบ 3G เหมือนสถาปนิกในเมือง แต่ก็มีชีวิตที่มีความสุขกับครอบครัวและมีความรักในงานของตนเอง

"อ้ายเชิด" มีร้านกาแฟและโฮมสเตย์ที่อยู่บนดอยและมีวิวสวยที่สุดในหมู่บ้าน แต่สถาปนิกจบใหม่......มีอะไรบ้างหรือยัง



"อ้ายเชิด" นายช่างประจำหมู่บ้าน
พูดคุยจะขอพานักเรียนมาเดินตาม
ผลงานของอ้ายเชิด


บ้านแบบที่ประยุกต์ใช้คอนกรีตและโครงหลังคาเหล็ก
อิฐแต่ละก้อนหล่อขึ้นมาโดยใช้ดินในหมู่บ้าน


วิวจากร้านกาแฟ มองเห็นหมู่บ้าน มองทะลุภูเขาไปคือเชียงใหม่

ห้องพักในโฮมสเตย์
บ้านข้องอ้ายเขาละครับ

ที่เขียนถึง"อ้ายเชิด" มาทั้งหมด ไม่ได้บอกให้เหล่านักเรียนหรือว่าที่สถาปนิกทั้งหลายต้องไปอยู่บนดอยหรือผันตัวไปทำงานก่อสร้าง หรือไม่ให้สร้างสรรค์งานที่แหวกแนว เพียงแต่อยากจะสื่อให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่พวกเราและระบบการศึกษาละเลย หลายครั้งเรียนแต่จากตำราที่มาจากเมืองนอก หรือ เอาแต่สร้างรูปทรงมันส์ๆ ตามที่เห็นในแมกกาซีน ไม่รู้ว่าชีวิตจริงเป็นอย่างไร หรือเมื่อออกไปทำวิชาชีพก็ละเลยเรื่องวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และบริบท ที่ควรจะเป็น

นี่ละครับคือหัวใจของโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด ที่ต้องการให้นักศึกษาได้เดินทาง เดินทางไปพบวิถีของชุมชนตั้งแต่ระดับรากหญ้า เดินทางไปสัมผัสธรรมชาติ วัฒนธรรม เดินทางไปพบเจอผู้คน คนที่ไม่ต้องเป็นนายช่างเหมือน"อ้ายเชิด" ก็ได้ครับ แค่ไปรับฟังความคิดเห็นจากเขาก็เป็นพอ สิ่งพวกนี้ละครับจะเป็นฐานที่ดีให้กับทัศนคติในการทำงานวิชาชีพสถาปัตย์ต่อไปในอนาคต ตั้งแต่บ้านหลังเล็กๆ ไปจนถึงตึกสูงเสียดฟ้า

พร้อมกันหรือยังครับสำหรับสำหรับการเดินทาง ^_^

บันทึกเรื่องราวโดย มนต์ชัย บุญยะวิภากุล




วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ตอนที่ 6: กลยุทธ์ PR กับ สายสัมพันธ์ Online

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสังคมโลกเราเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของสังคม Online เกิด Social Network ขึ้นอย่างมากมาย ถ้าจำกันได้ประมาณ 3 ปีที่แล้ว พวกเราฮิตเล่น Hi5 แต่ในช่วง 1 ปีถัดจากนั้นกระแสของ Facebook ก็เป็นที่นิยมมากจนชาวไทยมากกว่า 10 ล้านคนได้เข้ามาร่วมวง พูดคุย โพสรูป แปะLink เล่นเกมส์ และอีกสารพัดกิจกรรม จนเป็นสังคมขนาดใหญ่ที่ผู้ประกอบการธุรกิจ นักการตลาด และนักประชาสัมพันธ์ เห็นลู่ทางว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยตรงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้โฆษณาให้ Facebook นะครับ แต่จะบอกว่าสังคมโลกเราเปลี่ยนไปแล้วและเปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้คนนอกจากมีชีวิตในสังคมแห่งความเป็นจริงแล้วก็ยังมีสังคมออนไลน์ที่ซ้อนทับกันอยู่ และสังคมออนไลน์นี้ถ้าใช้อย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ก็จะเกิดประโยชน์และสร้างสรรค์อย่างมากมาย นี่เองเป็นสาเหตุให้ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีการจัดการเรียนการสอนในวิชา ARC404 (ไฮเปอร์มิเดีย) โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 รู้จักการนำเสนองาน การจัดทำResume และวางกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ ในโลกของออนไลน์ สำหรับโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด Season 2 จะเป็นเวทีแรก ที่นักศึกษาปีที่ 4 จะได้นำความรู้ที่ได้จากวิชา ARC 404 ในการวางกลยุทธ์สำหรับดึงดูดให้น้องปีที่ 1 มาสมัครเข้า Office ของตนเอง

website office NO.8 ขายความอบอุ่นและรอยยิ้มของพี่ๆ

โดยโจทย์สำหรับพี่ปี 4 คือ จะต้องมีการสร้าง Website Office ของตนเองและใช้เรื่อง Social Network & Social Media ผนวกเข้าไปด้วยในการประชาสัมพันธ์ให้เห็นภาพลักษณ์และวิธีการทำงานของ Office ของตนเองเพื่อ ดึงน้องปี 1 ให้ส่ง Portfolio Online เข้ามาสมัครงาน พี่ปี 4 บางกลุ่มที่ปกติเคยทำกิจกรรมร่วมกับน้องอยู่บ่อยๆ อาจจะขายหน้าตาตนเองมาอยู่กับพี่แล้วเฮฮาแน่ พี่บางกลุ่มเก่ง Design ประเภทงานเทพก็อาจจะนำเสนองานของตนเอง นำเสนอว่าจะสอนเทคนิคการทำงานแบบเทพให้กับน้อง บางกลุ่มเน้นความเรียบง่ายชีวิตไม่เร่งรีบ มาทำงานด้วยกันก็เรื่อยแต่อบอุ่น นอกจากนั้นในการทำ PR ผ่าน Social Network พวกเขาก็ต้องหาช่องทางให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพมากที่สุด

website office A5 กลุ่มนี้ขายหน้าตาและงาน Design

Social Network ของกลุ่ม RARE กลุ่มนี้สงสัยขายหน้าตาครับ 555

ข้ามมาทางฝั่งนักศึกษาชั้นปีที่ 1 น้องใหม่ของคณะฯ พวกเขาเหล่านี้จะต้องทำ Portfolio Online เสนอความเป็นตัวตน เสนอผลงานที่ทำมาในเทอมเริ่มแรกของเขา ส่งไป Office ของพี่ปี 4 ที่พวกเขาต้องการเข้าไปร่วมงานด้วย แต่สุดท้ายกระบวนการคัดกรองและการตัดสินใจก็จะอยู่กับกลุ่มของ พี่ปีที่ 4 ว่าจะรับเขาไปทำงานด้วยหรือไม่ เป็นกระบวนการที่ทำให้พี่ปี 4 รู้จักการตัดสินใจ ส่วนสำหรับน้องปี 1 ก็เป็นการฝึกให้ยอมรับและเคารพในการตัดสินใจของผู้อื่น หากไม่มีใครสนใจ Portfolio อาจจะต้องมาทำการปรับเนื้อหา หรืออาจเลยไปถึงการปรับพฤติกรรมที่เป็นอยู่ เพื่อจะได้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ในวันหน้า

รวม Portfolio Online ของปี 1 กว่า 300 ชีวิต

ส่งผลงานการเรียนให้พี่ดู

กิจกรรมที่เคยทำ ก็เป็นเหตุผลในการเลือกเข้า Office

แม้ว่าโลกจะเปลี่ยน สังคมออนไลน์จะเข้ามาแทนที่ หลายคนเคยพูดว่าเราให้ความสนใจคนที่อยู่ข้างเราน้อยลงแต่ให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ไกลกันมากขึ้น แต่ถ้าเรารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ ใช้มันอย่างถูกวิธี คนใกล้ที่เคยไกล ช่องว่างที่เคยห่าง สายสัมพันธ์ที่เปราะบาง พี่และน้องที่แปลกหน้า ในวันนี้ผมสังเกตุเห็นแล้วครับว่ามันเริ่มเปลี่ยนไป คนไกลกลับมาใกล้ ช่องว่างที่แคบลง พี่น้องที่ทักทาย สายสัมพันธ์เริ่มถักทอ เห็นไหมครับ ออนไลน์ก็มีประโยชน์เหมือนกัน

ค่อยๆ เริ่มเดินทีละก้าวแล้วครับโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด Season 2 ของพวกเรา

บันทึกเรื่องราวโดย มนต์ชัย บุญยะวิภากุล

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

ตอนที่ 5: ชื่อที่ใช่ กลุ่มที่ชอบกับความหมายที่ซ่อนอยู่

ย้อนไปเมื่อ 2 กันยายน 2554 จำได้ว่าเป็นวันแรกที่ได้มาชี้แจงและเปิดโครงการ 4+1 สำนึกรักบ้านเกิด Season 2 ให้นักศึกษาปีที่ 4 ได้ทำความเข้าใจกับโครงการ หนึ่งในสิ่งที่พวกพี่ปี 4 จะต้องเตรียมตัวเป็นอันดับแรกคือ การร่วมกันจัดตั้ง Office ออกแบบมาเพื่อเป็นการจำลองรูปแบบการทำงานจริง กติกาก็คือรวมกลุ่มกันประมาณ 5-6 คน เพื่อให้ได้ 23 กลุ่ม ลงพื้นที่รักบ้านเกิด 23 ชุมชน เขาเหลานี้จะต้องปรับตัวปรับการทำงาน จากเข็มวินาทีไปสู่เข็มนาที จากตลอด 3 ปีที่เรียนมารับผิดชอบแค่ตนเองหรือเพื่อนร่วมกลุ่ม แต่ตอนนี้จะต้องเริ่มดูแลและจัดการน้องปี 1 อีกหลายสิบชีวิตที่จะมาผูกพันธ์ทำงานร่วมกันตลอดเวลา 4-5 เดือนข้างหน้า

นี่เป็นตัวอย่างของกลุ่มสำนักงานออกแบบที่นักศึกษาปี 4 ร่วมกันตั้งขึ้นมาครับ ส่วนความหมายของแต่ละกลุ่มนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร คัดลอกมาจากในเฟสบุ๊คที่ให้พวกเขาได้มาอธิบายถึงตัวตนของเขาครับ

NUMBER 8 คือพี่ทั้ง8คน และเลข8 เปนสัญลักษณ์เดียวกับ infinity ในที่นี้จะหมายถึง การเรียนรู้โดยไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ

s2 s2do ... s=สะ , 2=ทู/ตู , d=ดี , o=โอ รวมแล้วเป็น สตู สตูดิโอ ....ชื่อโดย กิ๊ฟ

SD.Studio มาจาก ตอนแรก Snooker Design Studio ห้าห้าห้า แต่ว่า มันไม่เวิร์คๆ เลย เอามาจาก Space Design Studio แทนคับ :D คำนิยามก็ตามตัวคับ Space Design และตัวโลโก้ กลุ่ม ก็ เลยเอา เมมโมรี่ Sandisk มาใช้ มีคำว่า ว่า SD อยู่ด้วย และ ประมาณว่าเอา เมมฯ ตัวนี่มา เก็บและแจกจ่าย สิ่งดีๆ คับslow team การใช้ขีวิตให้ช้าลง ทุกคนหยุดคิดก่อนที่จะทำอะไรลงไป เพื่อสุขภาพ การทำงานที่ละเอียดขึ้น ก้าวไปช้าๆอย่างมั่นคงครับ

คิดชื่อไม่ออกครับเลยตั้ง nameless

TAM FEEL'S มาจาก ความคิด อารมและความรู้สึกที่จะสื่อออกมาใน ณ ขณะนั้น เราไม่จำกัดความคิดของใคร เปิดกว้างทางอารม และความคิดที่จะสื่อสารออกมา ก้เหมือนความคิดที่เป็นอิสระโดย ปราศจากกรอบความสกัดกั้นจากทุกๆทาง

‎21 plus (twenty-one plus ) Plus -(การคิดบวก) เป็นกลุ่มที่คิดบวก - บวกน้องปี 1

The company's name came from the project overall concept 4+1, forth year student's id number starts with 51 and first year with 54. Plus it together and gathered up as "Room No.105"

5scape ///// เลข 5 มาจากสมาชิกจำนวนผู้ก่อตั้ง office ส่วนคำว่า scape มาจากคำว่า Landscape ที่มีความหมายในเชิงผังเมือง ภูมิประเทศ ที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งที่เราต้องศึกษา และทำงานออกมา

RARE = ดิบ ถ้าตรงๆก็ดิบๆกันไปเลย ภายนอกอาจจะดูฮาดคอร์ โหดร้าย หยาบกระด้าง แต่ข้างในนุ่มนวลและนุ่มนิ่มนะจ๊ะ
เหมือนสถาปัตยกรรมจะมองภายน
อกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมาค้นหาสเปชภายใน สัจจะแห่งความคิดและตัวตน ของกลุ่มสถาปนิก

Dwarf house ค่ะ ถ้าแปลตรงตัวก็คือบ้านคนแคระ เพราะพวกหนูเตี้ย ความหมายแฝงก็คือเป็นบ้านของพวกเรานักออกแบบรุ่นเล็ก (แต่แซ่บเวอร์นะคะอาจารย์) 55555

A5 ย่อมาจาก association5 ครับแปลว่า สมาคม
ซึ่งโครงการ 4+1 ก็มาจากสมาคม 2 สมาคมคือ สมาคมน้องปี 1 กับ พี่ปี 4
รวมกันเกิดเป็นสมาคมใหม่ขึ้น เหมือนเลข 4 กับ เลข 1 ที่มารวมกันแล้วกลายเป็นเลขใหม่คือ 5 ถ้าจะถามว่า 5 มายังไงคำตอบอาจมีหลากหลาย แต่สำหรับ A5 แล้วนั้น เราคือ association1+ association4 =A5 เราพี่น้องรวมกันเป็น 1 เดี่ยวครับ

‎0.9 คือหน่วยย่อยก่อนจะเป็นหน่วยใหญ่ ก็เหมือนการเริ่มจากจุด เส้น ระนาบ

แค่เห็นแนวคิดในการตั้งชื่อและความหมายที่ซ่อนอยู่ของแต่ละกลุ่ม บอกได้คำเดียวว่าไม่ธรรมดาครับ

บันทึกเรื่องราวโดย มนต์ชัย บุญยะวิภากุล